ReadyPlanet.com
dot
dot
dot
dot




ข้อควรรู้เกี่ยวกับตั้ง

ข้อควรรู้ก่อนการตั้งศาล

1. ขั้นตอนการตั้งศาลพระพรหม พร้อมภาพพิธีการตั้งศาลพระหรหม

2. ขั้นตอนการตั้งศาลพระภูมิและเจ้าที่ พร้อมภาพพิธีการตั้งศาลพระภูมิ

 

การตั้งศาลพระพรหม   

             การตั้งศาลพระพรหมผู้ทำพิธีตั้งอาจจะเป็นหมอชาวบ้านหรือพราหมณ์ก็ได้แต่ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติตัวอยู่ในศีลในธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม จะทำให้การตั้งศาลพระพรหมบังเกิดผลดี มีความเจริญรุ่งเรืองแก่เจ้าของบ้าน เจ้าของกิจการ

สถานที่ตั้งศาลพระพรหม มีหลักการพิจารณาดังนี้
1. ที่ตั้งศาลต้องเป็นบริเวณพื้นดิน มิใช่บริเวณเดียวกับพื้นของตัวบ้าน
2. หากไม่มีพื้นที่ที่เป็นพื้นดิน สามารถทำการตั้งศาลบนชั้นดาดฟ้าได้ แต่ส่วนใหญ่ศาลที่ตั้งบนดาดฟ้าจะเป็นศาลเทพต่างๆ เช่นพระพรหม หรือ พระนารายณ์ มิใช่พระภูมิเจ้าที่
3. จุดที่ตั้งของศาลต้องไม่ถูกเงาของตัวบ้านทอดลงมาทับ
4. ที่ตั้งของศาลควรอยู่ห่างจากบริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ
5. อย่าตั้งศาลให้อยู่ใกล้กับตัวบ้านมากนัก
6. อย่าหันหน้าศาลเข้าสู่บริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ
7. ไม่ควรตั้งศาลให้หันหน้าตรงกับประตูหน้าบ้าน
8. ตั้งศาลให้ห่างจากรั้วหรือกำแพงบ้านอย่างน้อย 1 เมตร
9. ถ้าสามารถยกพื้นที่ตั้งศาลให้สูงขึ้นสัก 1 คืบ จากพื้นดินได้ ก็เหมาะสมอย่างยิ่ง
10. ความสูงของศาล ควรสูงเหนือระดับสายตาของผู้เป็นเจ้าของบ้านขึ้นไปเล็กน้อย

อุปกรณ์ตั้งศาลพระพรหม
1. องค์พระพรหม (สำคัญที่สุดในศาล)
2. ตุ๊กตาชาย หญิง  ตุ๊กตาช้างม้า (ถือเป็นข้าทาสบริวาร)
3. ละครรำ
4. กระถางธูป
5. แจกัน
6. เชิงเทียน
7. ธูป เทียน ทองคำเปลว
8. แผ่นเงิน ทอง นาค
9. อิฐเงิน ทอง นาค
10. พลอยนพเก้า
11. ไม้มงคลเก้า
12. โพธิ์เงิน ทอง
13. ฉัตรเงิน ทอง
14. โอ่งเงิน ทอง
15. ผ้าสามสี
16. น้ำอบ แป้งเจิม น้ำมันหอม
17. ข้าวตอก ถั่ว งา
18. ด้ายสายสิญจน์ 1 ม้วน

เครื่องสังเวยศาลพระพรหม
 1. บายศรี 1 คู่
2. หัวหมู 1 คู่
3. กุ้งพล่า ปลายำ
4. เผือก มันต้ม
5. ปลาช่อนนอนตอง
6. ถั่ว งา นมข้น
7. ผลไม้มงคล 9 ชนิด
8. ขนมคาว หวาน 9 ชนิด
9. ต้มแดง ต้มขาว
10. มะพร้าวน้ำหอม
11. หมากพลู
12. พวงมาลัยดาวเรือง ดอกไม้สด                     


ขั้นตอนการตั้งศาลพระพรหม โดยพราหมณ์
1. เจ้าของสถานที่เชิญท่านพราหมณ์ไปดูสถานที่ตั้ง เลือกทำเลและทิศที่ควรตั้ง
2. ท่านพราหมณ์ดูฤกษ์ยามที่เหมาะสม
3. เจ้าของสถานที่เลือกซื้อศาล พร้อมอุปกรณ์ตั้งศาล และเครื่องสังเวย
4. เมื่อถึงฤกษ์ตามวันที่กำหนด เจ้าของบ้านต้องจัดเตรียมเครื่องสังเวยไว้เพื่อเตรียมทำพิธี   ท่านพราหมณ์ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ จะวางในฐานชิ้นล่างสุดของศาลพระพรหม สิ่งที่นำมาวางรากฐานประกอบไปด้วย แผ่นเงิน-ทอง-นาค อิฐเงิน-ทอง-นาค พลอยนพเก้า  ข้าวตอก ถั่ว งา  6 ดอกไม้ 9 สี   และไม้มงคล 9 ชนิด คือ
- ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึงความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา
- ไม้ขนุน  หมายถึง หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยทำอะไรมีแต่คนเกื้อหนุน
- ไม้ชัยพฤกษ์  หมายถึง การมีชัยชนะศัตรู ชนะอุปสรรคต่างๆ
- ไม้ทองหลาง หมายถึง การมีทรัพย์สิน มีเงิน มีทองใช้ไม่ขัดสน
- ไม้ไผ่สีสุก หมายถึง มีความสุขทางกายสบายใจ ไร้ทุกข์โศกโรคภัย
- ไม้ทรงบาดาล หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้บ้านมั่นคงแข็งแรง
- ไม้สัก  หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ อำนาจบารมี คนเครารพนับถือและยำเกรง
- ไม้พะยูง  หมายถึง พยุงฐานะให้ดีขึ้น
- ไม้กันเกรา  หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ หรืออีกชื่อ หนึ่งว่า ตำเสา ซึ่งหมายถึงทำให้เสาเรือนมั่นคง
5.  ท่านพราหมณ์สวดมนต์ทำพิธี  และอันเชิญองค์พระพรหมขึ้นสู่ศาล
6. เมื่อทำพิธีเสร็จแล้ว เชิญเจ้าของสถานที่ไหว้ และแจกจ่ายอาหารให้กับบริวารเพื่อเป็นอาหารทิพ ถือว่าผู้ใดได้รับประทานอาหารจากพิธีแล้วจะไม่ป่วยไข้และทำการค้าราบรื่นร่ำรวย

การตั้งศาลพระภูมิ
    สิ่งที่ต้องคำนึงในการตั้งศาลพระภูมิ คือ สถานที่ตั้ง, ทิศทาง, วันและฤกษ์ตั้ง,ความสูงของศาลพระภูมิและผู้ประกอบพิธีกรรมการตั้งศาลพระภูมิ

สถานที่ที่ตั้งศาล มีหลักการพิจารณาดังนี้
1.  ที่ตั้งศาลต้องเป็นบริเวณพื้นดิน มิใช่บริเวณเดียวกับพื้นของตัวบ้าน
2. หากไม่มีพื้นที่ที่เป็นพื้นดิน สามารถทำการตั้งศาลบนชั้นดาดฟ้าได้ แต่ส่วนใหญ่ศาลที่ตั้งบนดาดฟ้าจะเป็นศาลเทพต่างๆ เช่นพระพรหม หรือ พระนารายณ์ มิใช่พระภูมิเจ้าที่
3. จุดที่ตั้งของศาลต้องไม่ถูกเงาของตัวบ้านทอดลงมาทับ
4. ที่ตั้งของศาลควรอยู่ห่างจากบริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ
5. อย่าตั้งศาลให้อยู่ใกล้กับตัวบ้านมากนัก
6. อย่าหันหน้าศาลเข้าสู่บริเวณที่ตั้งของห้องน้ำ
7. ไม่ควรตั้งศาลให้หันหน้าตรงกับประตูหน้าบ้าน
8. ตั้งศาลให้ห่างจากรั้วหรือกำแพงบ้านอย่างน้อย 1 เมตร
9. ถ้าสามารถยกพื้นที่ตั้งศาลให้สูงขึ้นสัก 1 คืบ จากพื้นดินได้ ก็เหมาะสมอย่างยิ่ง
10. ความสูงของศาล ควรสูงเหนือระดับสายตาของผู้เป็นเจ้าของบ้านขึ้นไปเล็กน้อย

ทิศทาง การหันหน้าศาลพระภูมิสู่ทิศมงคล
1. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ทิศอีสาน เป็นทิศที่ดีที่สุดหากตั้งศาลหันไปทิศนี้บ้านนั้นจะมีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป
2. ทิศตะวันออก หรือ ทิศบูรพา เป็นทิศที่ดีอันดับ 2 หากตั้งศาลหันไปทิศนี้บ้านนั้นจะมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ประมาณ 100 ปี หลังจากนั้น จะมีแต่เสื่อมลงๆจนถึงขั้นหาความสุขความเจริญไม่ได้
3. ทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ทิศอาคเนย์ เป็นทิศที่ดีอันดับ 3 หากตั้งศาลหันไปทิศนี้บ้านนั้นจะมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ประมาณ 50 ปี หลังจากนั้น จะมีแต่เสื่อมลงๆจนถึงขั้นหาความสุขความเจริญไม่ได้

ทิศต้องห้ามในการตั้งศาลพระภูมิ คือ ทิศตะวันตกและทิศใต้
    เมื่อหาทิศทางตั้งศาลได้แล้วจะต้องพูนดินให้สูง 1 คืบ เกลี่ยดินด้วยมือและทุบให้แน่น ห้ามใช้เท้าเด็ดขาด และเตรียมน้ำมนต์ไว้พรมบริเวณพื้นดินเพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ น้ำมนต์ที่ว่านี้เรียกว่า " น้ำมนต์ธรณีสาร " น้ำมนต์ธรณีสารนี้ ทำได้โดยนำน้ำธรรมดาไปให้พระท่านสวดพระพุทธมนต์ทำเหมือนน้ำมนต์ทั่วไปแต่ต่างกันตรงที่
ให้ท่านนำใบไม้ต้นธรณีสารมาใส่ลงในน้ำที่จะทำน้ำมนต์

วันและฤกษ์ตั้งศาล 
           มีความสำคัญมาก ควรเลือกวันที่ดีและมีความเป็นสิริมงคลเพื่อให้ประสิทธิ์ผลในทางมงคลแก่ผู้อยู่อาศัยในบ้านเรือนนั้นสืบต่อไป วันต่อไปนี้ถือเป็นวันที่เป็นมงคลฤกษ์ แต่ถ้าวันข้างขึ้น หรือข้างแรมดังกล่าวไปตรงกับ วันต้องห้าม ของเดือนใด ให้เลี่ยงไปใช้วันอื่นเสีย
วันข้างขึ้น  ๒ ค่ำ,  ๔ ค่ำ,  ๖ ค่ำ,  ๙ ค่ำ,  ๑๑ ค่ำ
วันข้างแรม ๒ ค่ำ, ๔ ค่ำ,  ๖ ค่ำ, ๙ ค่ำ, ๑๑ ค่ำ
เวลาฤกษ์อันเป็นมงคล
วันอาทิตย์          เวลา ๖.๐๙ น. - ๘.๑๙ น.
วันจันทร์             เวลา ๘.๒๙ น. - ๑๐.๓๙ น.
วันอังคาร           เวลา ๖.๓๙ น. - ๘.๐๙ น.
วันพุธ                 เวลา ๘.๓๙ น. - ๑๐.๑๙ น.
วันพฤหัสบดี       เวลา ๑๐.๔๙ น. – ๑๑.๓๙ น.
วันศุกร์               เวลา ๖.๑๙ น. - ๘.๐๙ น.
วันเสาร์              เวลา ๘.๔๙ น. - ๑๐.๔๙ น.

วันต้องห้าม
เดือนอ้าย  ( ธันวาคม )  วันต้องห้ามคือ วันพฤหัสบดี และวันเสาร์
เดือนยี่ ( มกราคม )  วันต้องห้ามคือ วันพุธ และวันศุกร์
เดือน ๓ ( กุมภาพันธ์ )  วันต้องห้ามคือ วันอังคาร
เดือน ๔ ( มีนาคม)  วันต้องห้ามคือ วันจันทร์
เดือน ๕ ( เมษายน )  วันต้องห้ามคือ วันพฤหัสบดี และวันเสาร์
เดือน ๖  ( พฤษภาคม ) วันต้องห้ามคือ วันพุธ และวันศุกร์
เดือน ๗ (มิถุนายน ) วันต้องห้ามคือ วันอังคาร
เดือน ๘ ( กรกฎาคม) วันต้องห้ามคือ วันจันทร์
เดือน ๙ ( สิงหาคม )  วันต้องห้ามคือ วันพฤหัสบดี และวันเสาร์
เดือน ๑๐ ( กันยายน ) วันต้องห้ามคือ วันพุธ และวันศุกร์
เดือน ๑๑ ( ตุลาคม )  วันต้องห้ามคือ วันอังคาร
เดือน ๑๒ ( พฤศจิกายน )  วันต้องห้ามคือ วันจันทร์

    จะสังเกตได้ว่า จะไม่ปรากฏว่ามี วันอาทิตย์ เป็น ข้อห้ามเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ยึดเอาวันอาทิตย์เป็นวันที่ดีที่สุดสำหรับการตั้งศาล เพราะคนโบราณถือกันว่า วันอาทิตย์นั้นแม้จะจะเป็นวันที่มีกำลังแรงดี แต่เป็นวันแรงและวันร้อน ไม่เหมาะที่จะทำการตั้งศาล เพราะบ้านอาจจะร้อนจนปราศจากความร่มเย็นเป็นสุข แต่ ถ้าหากผู้กระทำพิธีมีเคล็ดมีมนตร์แก้ความร้อนของวันได้ ก็สามารถคิดทำการตั้งศาลในวันนี้ได้ตามความ
        
ความสูงของศาล 

     ขึ้นอยู่กับ ตัวเจ้าของบ้าน โดยให้ระดับฐานหรือชานชาลาพระภูมิอยู่เหนือระดับปาก (บางตำราว่าอยู่เหนือคิ้วพอดี ) ของผู้เป็นเจ้าของบ้าน ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนเจ้าบ้าน ก็ควรจะตั้งศาลพระภูมิขึ้นใหม่
การใช้ศาลพระภูมิร่วมกัน กรณีที่เป็นหมู่บ้าน, ชุมชนหรือตึกแถว ให้ยึดเอาความสูงจาก เจ้าของผู้สร้างเริ่มแรก หรือหัวหน้าชุมชนนั้นๆ โดยให้เป็นตัวแทนเพื่อมาทำการยกศาลพระภูมิขึ้นเพื่อบอกกล่าวและสักการะ ขอให้ท่านดูแลปกปักษ์รักษาให้คุณ ให้โชคลาภ ความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้อยู่อาศัยทุกคน

 

 การปักเสาตั้งศาล 
     ต้องเตรียมหลุมให้เสร็จก่อนเริ่มพิธี ( ค่อยมีพิธีในวันรุ่งขึ้น ) โดยต้องเตรียมของดังนี้พานครู 1 พาน ใช้สำหรับใส่ข้าว ธูป เทียนขาว ดอกไม้หรือพวงมาลัยสด เหล้า บุหรี่ ผ้าขาว เงิน 6 สลึงหรือ 99 บาท
รายการของมงคลใส่หลุม (ปัจจุบันที่นิยมใช้)
    1. เหรียญเงินและเหรียญทอง 9 เหรียญอย่างละ 9 เหรียญ (เหรียญสลึงหรือ 50 สตางค์ก็ได้)
    2. ใบเงิน ใบทอง ใบนาค ใบรัก ใบมะยม ใบนางกวัก ใบนางคุ้ม ใบกาหลง อย่างละ 9 ใบ
    3. ดอกบานไม่รู้โรย 9 ดอก
   4.  ดอกพุทธรักษา 9 ดอก
   5.  ไม้มงคล 9
   6.  แผ่นเงินทองนาค
   7.  พลอยนพเก้า
การกลบหลุมนั้นให้ใช้มือกด ห้ามใช้เท้าโดยเด็ดขาด

ผู้ประกอบพิธีกรรมการตั้งศาลพระภูมิ 
    ควรจะเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมมีศีลธรรม ทำบุญทำทานประจำ มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม จะทำให้การตั้งศาลพระภูมิบังเกิดผลดี มีความเจริญรุ่งเรืองแก่เจ้าของบ้าน หรือเจ้าบ้านจะเป็นผู้กระทำพิธีกรรมก็ได้ โดยศึกษาขั้นตอนพิธีกรรมต่างๆ และให้ถือศีลกินเจ 7 วัน ( 3,5,7 วันก็ได้ หรือมากกว่านี้ก็ได้ )
   
ส่วนประกอบสำคัญของศาลพระภูมิ 

    เจว็ดศาลพระภูมิ จะเป็นรูปพระภูมิอยู่ในแผ่นคล้ายแผ่นเสมา มือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายถือถุงเงินหรือสมุด(หนังสือ) และการปลุกเสกเจว็ดให้เป็นองค์พระภูมิมีดังนี้ บรรจุธาตุทั้ง 6 คือ บรรจุพระพุทธคุณ, บรรจุพระธรรมคุณ, บรรจุพระสังฆคุณ ตลอดเทวคุณ และวิญญาณธาตุเข้าไปในเจว็ดจากที่เรียกว่า จะเจว็ดเมื่อปลุกเสกแล้วก็จะเรียกว่า  "พระภูมิ" 
        
อุปกรณ์ตั้งศาลพระภูมิ
1. เจว็ดพระภูมิ (สำคัญที่สุดในศาล)
2. ตุ๊กตาชาย หญิง ตุ๊กตาช้างม้า (ถือเป็นข้าทาสบริวาร)
3. ละครรำ
4. กระถางธูป
5. แจกัน
6. เชิงเทียน
7. ธูป เทียน ทองคำเปลว
8. น้ำอบ แป้งเจิม น้ำมันหอม
9. ข้าวตอก ถั่ว งา
10. ด้ายสายสิญจน์ 1 ม้วน
11. ผ้าสามสี
12. ผ้าขาว – ผ้าแดง
13. ม่านหน้าศาล
14. ดอกไม้ 7 สี (มาลัย 7 สี)
15. ฉัตรเงิน – ฉัตรทอง
16. โพธิ์เงิน – โพธิ์ทอง
17. โอ่งเงิน - ทอง

เครื่องสังเวยสำหรับตั้งศาล จะประกอบด้วยอาหารคาวหวานดังนี้  
1. หัวหมู 1 หัว
2. ไก่ต้ม 1 ตัว
3. เป็ด 1 ตัว
4. ปลานึ่ง 1 ตัว
5. ปู หรือ กุ้ง 1 จาน
6. บายศรีปากชามยอดไข่ 1 คู่
7. น้ำจิ้ม 2 ถ้วย
8. ข้าวสวย 2 ถ้วย
9. เหล้า 1 ขวด
10. น้ำชา 2 ถ้วย
11. น้ำสะอาด 2 แก้ว
12. มะพร้าวอ่อน 1 คู่
13. ขนมต้มแดง 2 จาน
14. ขนมต้มขาว 2 จาน
15. ขนมถั่วงา 2 จาน
16. ขนมถ้วยฟู 2 จาน
17. ขนมหูช้าง 2 จาน
18. เผือก-มันต้ม 2 จาน
19. ฟักทอง 2 ผล
20. แตงไทย 2 ผล
21. ขนุน 2 จาน
22. สับปะรด 2 ผล
23. กล้วย 2 หวี
24. ผลไม้ 5 ชนิด 2 จาน
25. พานหมาก พลู บุหรี่ 1 คู่
  **ถ้าขนาดบ้านและศาลพระภูมิเล็ก ก็สามารถใช้สับปะรดเพียง 1 ผลได้แต่จัดแบ่งเป็น 2 จาน *

ผลไม้ที่ห้ามนำถวาย 
1. มังคุด
2. ละมุด
3. ระกำ
4. มะเฟือง
5. มะไฟ
6. น้อยโหน่ง
7. น้อยหน่า
8. กระท้อน
9. ลูกท้อ
10. ลูกจาก
11. ลูกพลับ
12. มะขวิด
13. มะตูม
14. พุทรา
15. ลางสาด
  คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าผลไม้ทั้ง 15 ชนิดนี้เป็นอัปมงคล ไม่ควรนำมาถวายเป็นเครื่องสังเวยหน้าศาลพระภูมิเป็นอันขาด

ขั้นตอนการตั้งศาลพระภูมิ
      1. หาพราหมณ์หรือหมอตั้งศาลที่จะทำพิธีเพื่อดูฤกษ์ยาม และทิศทางในการตั้งศาล
      2. กำหนดวันที่จะทำพิธีตั้งศาล ส่วนมากมักจะทำพิธีในช่วงเช้า
      3. การทำแท่นฐานศาล สำหรับรูปแบบแท่นศาลส่วนมากจะออกแบบให้เหมาะสมกับสถานที่นั้นๆ และจะมีขนาดที่เหมาะสมกับตัวศาลที่ตั้ง
      4. เลือกศาลพระภูมิตามแบบและขนาดที่ต้องการ แต่ต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับสถานที่ ส่วนสีสามารถเลือกได้ตามที่เจ้าของสถานที่ชอบ แต่ส่วนมากก็มักจะใช้สีตามวันเกิดของสถานที่นั้นๆ 
      5. ขั้นตอนในวันทำพิธีตั้งศาล เจ้าบ้านตระเตรียมเครื่องสักการะและสังเวยพระภูมิชุดใหญ่ ตั้งบนโต๊ะพิธี
      6. ผู้ทำพิธีหรือพราหมณ์จะทำพิธีร่ายคาถาทำน้ำมนต์ไหว้ครู อัญเชิญเทวดาให้มาสิงสถิตที่เจว็ด ก่อนนำเสาศาลมาฝังลงดินเพื่อให้ทำมาค้าขึ้นก้าวหน้าร่ำรวย จะมีการนำน้ำมนต์ธรณีสารมารดบริเวณหลุม ช่วยไล่ภูติผีและสิ่งชั่วร้ายให้หมดไป จึงฝังสิ่งมงคลทั้งหลายลงไปด้วย เช่น ทองคำ เงิน เหล็ก แก้วมณี เป็นต้น รวมทั้งแผ่นทองคำ ซึ่งจารดวงชะตาของเจ้าของบ้าน ดวงชะตาพระภูมิ และยันต์จัตตุโร เจิมด้วยแป้งหอมน้ำมันหอม โรยทับตามด้วยดอกไม้ชื่อเป็นมงคลปนกับเหรียญบาทเหรียญสตางค์
      7. โบกปูนปิดทับตั้งเสาศาลคร่อมรอยปูนนี้ ให้ความสูงของปลายเสาอยู่ระดับเพียงตาจึงยกระดับศาลพระภูมิขึ้นบนเสาไม่ให้เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าเป็นสมัยก่อนจะนำเสาของศาลนั้นปักลงหลุมที่ทำพิธี  ต่อจากนั้นพราหมณ์อัญเชิญเจว็ดมาสถิตที่ศาล โดยห้ามมิให้เอียงด้านใดด้านหนึ่ง
      8. พราหมณ์ผู้ทำพิธีจะมีการเจิมศาลและพรมน้ำอบที่ตัวศาล จากนั้นจึงจัดแจกันดอกไม้ กระถางธูป ข้ารับใช้พระภูมิ ละครรำ ช้างม้า เครื่องเซ่นบูชา พวงมาลัย ผ้าแพรผ้าสีผูกประดับที่เสา บูชาเครื่องเซ่น เป็นอันเสร็จพิธีตั้งศาล
      9. หลังจากเสร็จพิธีเจ้าบ้านมักจะเอาเครื่องสังเวยไปแจกคนในบ้านหรือเพื่อนบ้าน ถือเป็นอาหารวิเศษ เชื่อว่ารับประทานแล้วสุขภาพจะแข็งแรง ถ้าหญิงที่ตั้งครรภ์ได้รับประทานไข่บายศรีก็จะทำให้คลอดง่าย เด็กก็จะปลอดภัย

 

การตั้งศาลเจ้าที่
 การตั้งศาลเจ้าที่นั้น สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง ก็คือ การหาตำแหน่งการตั้งศาลที่ถูกต้อง เพราะถ้าตั้งผิดตำแหน่งผิดที่ อาจส่งผลกระทบได้ ลักษณะชัยภูมิที่ถูกต้องของการตั้งศาล จะต้องเป็น ดังต่อไปนี้
        1. การตั้งตรงกับประตูทางเข้าบ้าน ตำแหน่งศาลที่ถูกต้อง เวลาเดินเข้าบ้านจะต้องมองเห็นทันที ซึ่งตำแหน่งที่ตรงกับประตูถือเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะวางตำแหน่งนี้กันอยู่แล้ว แต่จะมีบางกรณีเท่านั้น ที่ศาลเจ้าที่อาจวางตำแหน่งอื่น เช่น ด้านข้างของตัวบ้าน ซึ่งมักจะเป็นการวางเพื่อแก้ไขฮวงจุ้ยมากกว่า
        2. ห้ามวางศาลหลบมุม หรือมีสิ่งของมาปิดบังหน้าศาล บริเวณหน้าศาลเจ้าที่จะ
ต้องมีพื้นที่โล่ง ห้ามมีสิ่งใดมาปิดบัง บางบ้านเอาศาลไปวางหลบอยู่ด้านหลังบ้านเดินเข้า
บ้านมองไม่เห็นศาลลักษณะแบบนี้ก็เข้าข่ายวางศาลผิด
        3. ห้ามวางศาลพิงห้องน้ำ นี่ถือเป็นตำแหน่งต้องห้ามเลยทีเดียว เพราะศาลเจ้าที่ถือเป็นธาตุไฟ เมื่อนำไปพิงห้องน้ำ (ธาตุน้ำ) ก็เท่ากับเอาน้ำไปพิฆาตไฟ ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลก็จะเสื่อมถอยลง หลายบ้านที่วางแบบนี้ มักจะไม่มีเจ้าที่ มีแต่ศาลเปล่าๆ ตั้งอยู่เท่านั้น
        4. ห้ามวางศาลใต้บันได หรือบริเวณทางขึ้นลงบันได กรณีแบบนี้จะพบบ่อยสำหรับอาคารพาณิชย์ ที่หาตำแหน่งในการวางเจ้าที่ค่อนข้างยาก เพราะพื้นที่มีน้อย บริเวณบันไดจะก่อสภาพที่เคลื่อนไหว ศาลเจ้าที่ต้องการความนิ่งสงบ การเอาศาลไปวางบริเวณบันได ไม่ว่าจะเป็นใต้บันได หรือทางขึ้นลงบันได ก็เท่ากับรบกวนเจ้าที่โดยตรง ตำราฮวงจุ้ยบอกว่าเจ้าที่มักไม่ค่อยอยู่บ้าน (ชอบเที่ยว)
        5. ห้ามวางศาลใต้คาน ศาลจะถูกคานกดทับ ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลลดทอนลงไปได้เช่นเดียวกัน
        การตั้งศาลเจ้าที่ภายในบ้าน จะมีเงื่อนไขค่อนข้างทีจะมาก จึงมีคำกล่าวว่า ถ้าไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสม ก็ไม่ควรจะตั้งศาล เพราะถ้าตั้งอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี การไม่ตั้งศาลเจ้าที่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร หลายคนกลัวมากจนเกินเหตุ บ้านที่ไม่มีศาลใช้วิธีไหว้เจ้ากลางแจ้งในช่วงเทศกาลต่างๆ แทนก็ได้
         กรณีที่ตั้งศาลเจ้าที่แล้วไม่ดูแล ปล่อยศาลทิ้งร้างไม่เคยกราบไหว้บูชาเลย อย่างนี้ก็อย่าตั้งเสียดีกว่า ถ้ารู้ว่าตัวเองไม่มีเวลา เพราะถ้าเจอเจ้าที่ประเภทจู้จี้ เจ้าระเบียบ ก็อาจจะเจอดีโดนเจ้าที่เล่นงานเอา ทำให้ป่วยบ้าง ทำให้ทะเลาะกันบ้าง หรือไม่ก็ทำให้ลูกจ้างเข้าๆ ออกๆ จนเจ้าของบ้านปวดหัวได้

อุปกรณ์ตั้งศาลเจ้าที่
 1. ตา-ยาย/เจว็ดเจ้าที่ (สำคัญที่สุดในศาล) 
2. ตุ๊กตาชาย หญิง  ตุ๊กตาช้างม้า (ถือเป็นข้าทาสบริวาร)
3. ละครรำ
4. กระถางธูป
5. แจกัน
6. เชิงเทียน
7. ธูป เทียน ทองคำเปลว
8. โอ่งเงิน ทอง
9. ผ้าสามสี
10. น้ำอบ แป้งเจิม น้ำมันหอม
11. ข้าวตอก ถั่ว งา
12. ด้ายสายสิญจน์ 1 ม้วน
13. ม่านหน้าศาล
14. ผ้าขาว - ผ้าแดง
 
เครื่องสังเวย
1. บายศรีปากชาม 1 คู่
2. ไข่ต้มใส่บายศรี
3. หมูนอนตอง 
4. กุ้งพล่า ปลายำ
5. ไก่ต้ม
6. เผือก มันต้ม
7. ปลาช่อนนอนตอง
8. ถั่ว งา นมข้น
9. ผลไม้มงคล 5 ชนิด
10. ขนมคาว หวาน 5 ชนิด
11. ต้มแดง ต้มขาว
12. มะพร้าวน้ำหอม
13. หมากพูล
14. เหล้าขาว
15. ข้าวสวย
16. ดอกไม้มงคล
17. พวงมาลัยดอกไม้สด เช่น ดอกดาวเรือง

 โดยส่วนใหญ่คนไทยมักจะตั้งศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่คู่กัน โดยจะต้องทำพิธีอันเชิญพระภูมิก่อนแล้วจึงทำการอันเชิญเจ้าที่
 จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้น คงทำให้ท่านเข้าใจถึงความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับการตั้งศาล  และรูปแบบลักษณะของศาลพระพรหม  ศาลพระภูมิ และศาลเจ้าที่ ว่ามีความต่างกันอย่างไร  รวมถึงขั้นตอนการทำพิธีตั้งศาลและสิ่งที่จะต้องเตรียมเมื่อต้องการตั้งศาล ซึ่งจากเดิมดูเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ต่อไปนี้จะไม่เป็นเรื่องที่ยุ่งยากอยากที่คิดอีกต่อไป
 



พิธีตั้งศาลพระภูมิ และเจ้าที่ article
พิธีตั้งศาลพระพรหม
ก่อนหน้า1ถัดไป
[Go to top]